มื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกันแถลงข่าวการเปิดให้ผู้ประกอบการเรือประมงสามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์รอบใหม่สำหรับปีการประมง ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒ (๑ เมษายน ๒๕๖๑ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๓) ระหว่างวันที่ ๒๐ มกราคม – ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ ที่ทำการอำเภอหรือสำนักงานประมงในเขตจังหวัดชายทะเล และกรมประมง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการทำประมง เนื่องจากใบอนุญาตทำการประมงในรอบปีการประมง ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ กำลังจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป เรือประมงลำใดออกไปทำประมงโดยไม่มีใบอนุญาต จะมีโทษรุนแรงทั้งทางอาญาและมาตรการทางปกครองตาม พ.ร.ก. ประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ในรอบปีการประมงนี้ ไทยได้บูรณาการการทำงานระหว่างกรมประมง กรมเจ้าท่า และ ศปมผ. เพื่อให้การป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้แก้ไขกฎระเบียบให้อายุใบอนุญาตทำการประมงและใบอนุญาตใช้เรือมีอายุสิ้นสุดพร้อมกัน และผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำการประมงและใบอนุญาตใช้เรือได้ในที่เดียวกันแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ณ สำนักงานประมงอำเภอที่มีอาณาเขตติดทะเลหรือสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร (จากเดิมที่ต้องไปยื่นคำขอทั้งที่สำนักงานเจ้าท่าและสำนักงานประมงอำเภอ)
ภายหลังจากยื่นคำขอ ชุดสหวิชาชีพของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) หรือคณะทำงานตรวจเรือ ๓ ฝ่าย (กรมประมง กรมเจ้าท่า และ ศปมผ.) จะเข้าตรวจเรือในพื้นที่จังหวัดที่เรือประมงอยู่ โดยการบูรณาการการทำงานของ ๓ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการแล้ว ยังจะเป็นการพัฒนาระบบการรวบรวมฐานข้อมูลเรือประมงให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เคยมีประวัติทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.ก. การประมง และรับโทษยังไม่ถึง ๕ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย
การออกใบอนุญาตทำประมงรอบใหม่นี้ จะสอดคล้องกับปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยได้มีการประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ (MSY) จากสมุดบันทึกการทำประมง การสุ่มตัวอย่างจากเรือประมง จำนวนวัน/ชั่วโมงการทำประมงจากการแจ้งเข้า-ออกผ่าน PIPO และผลการจับสัตว์น้ำจากเครื่องมือทำการประมงทุกประเภทในรอบปีที่ผ่านมา โดยได้มีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้าน MSY จากต่างประเทศในทุกขั้นตอนของการประเมินเพื่อให้ได้รูปแบบการคำนวณค่า MSY ที่เหมาะสมกับสภาพทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย ซึ่งทำให้การประเมินค่า MSY ในรอบนี้มีความละเอียดและถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น
รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนและจัดการกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งการปฏิรูปภาคประมงของไทยในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนรูปโฉมการประมงไทยจากการทำประมงโดย “เสรี” เป็นการทำการประมง “จำกัด” ซึ่งควบคุมโดยการออกใบอนุญาตทำประมง และใบอนุญาตใช้เรือที่สอดคล้องกับปริมาณสัตว์น้ำ ประสิทธิภาพของเครื่องมือประมง และการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม