ข่าวสารนิเทศ : การดำเนินคดีกับเรือประมง Chotchainavee 35 และ การช่วยเหลือลูกเรือไทยบนเรือประมง Chotpattana 51 และ Chotpattana 55

ข่าวสารนิเทศ : การดำเนินคดีกับเรือประมง Chotchainavee 35 และ การช่วยเหลือลูกเรือไทยบนเรือประมง Chotpattana 51 และ Chotpattana 55

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 Sep 2019

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 Nov 2022

| 128 view

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ พร้อมกับได้รับการแจ้งเตือนจาก DG MARE สหภาพยุโรป และองค์การตำรวจสากล ว่า เมื่อวันที่ 11 และ 12 มกราคม 2561 หน่วยป้องกันชายฝั่งมัลดีฟส์ได้สกัดเรือ Chotpattana 55 ชักธงโซมาเลีย พร้อมลูกเรือไทยจำนวน 10 คน และเรือ Chotpattana 51 พร้อมลูกเรือไทยจำนวน 12 คน ตามลำดับ ในข้อหาเข้าน่านน้ำมัลดีฟส์ผิดกฎหมาย โดยเรือได้บรรทุกสัตว์น้ำลำละ 200 ตัน และมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเรือ 2 ลำนี้อาจเป็นเรือไร้สัญชาติ

เรือทั้งสองลำนี้มีความเกี่ยวโยงกับเรือ Chotchainavee 35 โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ทางการไทยประกอบด้วยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปผม.) และตำรวจ ได้เข้าสกัดตรวจเรือลำดังกล่าว ซึ่งในขณะที่แล่นเข้าสู่น่านน้ำไทย เป็นเรือประมงที่ชักธงของสาธารณรัฐจิบูตี สาเหตุที่ทางการไทยเข้าสกัดและตรวจเรือลำดังกล่าวเป็นเพราะได้รับข้อมูลเชิงลึกจากผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งติดตามทำข่าวเรือตระกูลนี้มาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าเรือลำดังกล่าวมีพฤติกรรมทำการประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำโซมาเลีย จากการตรวจสอบเรือ Chotchainavee 35 ทางการไทยพบว่า เรือมีปริมาณสัตว์น้ำจำนวนถึง 448 ตัน ซึ่งมากเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในรัฐปุนแลนด์ของโซมาเลียที่กำหนดไว้ 270 ตัน นอกจากนี้ บริษัทเจ้าของเรือไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนตามระยะเวลาที่กำหนด ว่าสัตว์น้ำบนเรือไม่ได้มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมประมงจึงได้มีคำสั่งยึดเรือ สัตว์น้ำ และทรัพย์สินทั้งหมดในเรือ Chotchainavee 35 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 กรมประมงได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับเรือ Chotchainavee 35 ในฐานกระทำผิด พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 มาตรา 94 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักรมีโทษปรับทางอาญาสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยขณะนี้ กรมประมงกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการที่จะนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดที่ยึดได้จากเรือ Chotchainavee 35 ออกแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้หรือด้อยโอกาส ตามบทบัญญัติในมาตรา 96 วรรคสามของ พ.ร.ก.ฯ และขายทอดตลาดเรือและทรัพย์สินในเรือประมงต่อไป นอกจากนี้ ทางการไทยกำลังดำเนินคดีกับเจ้าของเรือ Chotchainavee 35 ด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เรือลำดังกล่าวมีสถานะเป็นเรือไร้สัญชาติด้วยแล้ว เนื่องจากจิบูติได้ถอนสัญชาติของเรือ Chotchainavee 35 แล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560

สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างเรือ Chotchainavee 35 Chotpattana 51 และ Chotpattana 55 นั้น เรือทั้งสามลำนี้เป็นกลุ่มเรือที่ในอดีตเคยเป็นเรือชักธงไทย และทั้งสามลำเป็นของบริษัทเดียวกันที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มบุคคลสัญชาติไทย ต่อมาเรือทั้งสามลำนี้ได้ถอนทะเบียนไปชักธงจิบูติและทำการประมงในน่านน้ำรัฐปุนท์แลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย เรือทั้งสามลำนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรือที่ทางการไทยร่วมกับตำรวจสากลในการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมการทำประมงและการใช้แรงงานบนเรือมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว และได้ออกเอกสารแจ้งเตือนไปยังประเทศต่าง ๆ พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบเรือเหล่านี้ หากประเทศใดพบ ขอให้เก็บข้อมูล ตรวจเรือ ตรวจเอกสาร สัมภาษณ์ลูกเรือ และร่วมมือกับทางการไทยในการที่จะจัดการกับเรือดังกล่าว จนต่อมา เรือสองลำ คือ Chotpattana 51 และ Chotpattana 55 ได้ถูกทางการมัลดีฟส์สกัดจับได้ในที่สุด

นอกจากความเชื่อมโยงระหว่างเรือ Chotchainavee 35  Chotpattana 51 และ Chotpattana 55 ผ่านทางบริษัทเจ้าของเรือบริษัทเดียวกันแล้ว ยังพบความเชื่อมโยงอีกประเด็นหนึ่งคือ มีลูกเรือที่ออกเดินทางไปกับเรือ Chotpattana 55 แต่กลับเดินทางกลับมาประเทศไทยกับเรือ Chotchainavee 35  และจากการสอบสวนลูกเรือชาวกัมพูชาบนเรือ Chotchainavee 35  พบว่า มีลูกเรือชาวกัมพูชาและลูกเรือไทยบนเรือ Chotpattana 51 และ Chotpattana 55 ที่ทำประมงอยู่ในน่านน้ำโซมาเลียที่ต้องการขอความช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากลูกเรือเหล่านี้ให้ข้อมูลว่า มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากบนเรือ ทางการไทยจึงได้ประสานกับรัฐบาลกัมพูชา รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในการช่วยเหลือลูกเรือ จนสามารถส่งกลับลูกเรือกัมพูชาทั้งหมดจำนวน 18 คนกลับประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 และส่งกลับลูกเรือไทยจำนวน 35 คน กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หลังจากนั้น กัปตันเรือได้นำลูกเรือไทยที่เหลืออีก 22 คน ออกเดินทางจากน่านน้ำโซมาเลีย และมาถูกสกัดจับในเขตน่านน้ำมัลดีฟส์ในข้อหาเบื้องต้นคือ เข้าน่านน้ำมัลดีฟส์โดยมิได้รับอนุญาต

พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากคำลูกเรือไทยชุดที่เดินทางกลับถึงไทยแล้ว และได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลกัมพูชาในการสอบปากคำลูกเรือกัมพูชาเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยพร้อมเจ้าหน้าที่กรมประมง ได้เดินทางไปยังมัลดีฟส์ โดยได้รับความร่วมมือจากตำรวจมัลดีฟส์ในการอนุญาตให้คณะจากไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์การสอบปากคำลูกเรือและขึ้นตรวจเรือและสัตว์น้ำบนเรือพร้อมกับผู้แทนองค์การตำรวจสากล เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายและการใช้แรงงานบังคับบนเรือ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ทำหน้าที่ล่ามในระหว่างการสอบปากคำ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ได้ให้การช่วยเหลือลูกเรือบนเรือ Chotpattana 51 และ Chotpattana 55 และได้จัดหาสิ่งของบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น และติดตามกับทางการมัลดีฟส์อย่างใกล้ชิดในการช่วยเหลือลูกเรือที่เหลืออยู่ทั้งหมดกลับประเทศ ขณะนี้ตำรวจมัลดีฟส์ได้สอบปากคำลูกเรือทั้งหมดและกัปตันเรือทั้งสองลำแล้ว แต่ยังต้องรอกระบวนการทางกฎหมายของทางการมัลดีฟส์ในการมีคำสั่งส่งตัวลูกเรือกลับประเทศไทย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้เตรียมความพร้อมแล้วในการรับลูกเรือทั้ง 22 คน ขึ้นจากเรือและส่งกลับไทย เมื่อกระบวนการทางกฎหมายในมัลดีฟส์สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินคดีกับกัปตันเรือ สถานะของเรือประมงและสัตว์น้ำบนเรือ ยังอยู่ภายใต้กระบวนการทางกฎหมายของทางการมัลดีฟส์

ทั้งหมดนี้ รัฐบาลไทยขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ New York Times, DG MARE สหภาพยุโรป, องค์การตำรวจสากล, องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร คือ SkyTruth, Trygg Mat Tracking (TMT), Catapult network, ตลอดจน Greenpeace, IOM  รัฐบาลกัมพูชา สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และโดยเฉพาะรัฐบาลมัลดีฟส์ ที่ได้ให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกันกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด จนทำให้ไทยสามารถช่วยลูกเรือที่ต้องการความช่วยเหลือเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ขณะนี้เหลือเพียง 21 ราย (ลูกเรือ 1 คน ได้ถูกส่งกลับไทยแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม  2561 เนื่องจากมีอาการป่วยและเครียดมาก) ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบกำลังติดตามและคอยให้ความช่วยเหลือระหว่างที่ลูกเรือยังต้องพำนักอยู่ที่มัลดีฟส์

ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความเอาจริงในการบังคับใช้กฎหมายของไทยและความพยายามในการอุดรูรั่วทางกฎหมายไทยในอดีตที่เคยเปิดช่องให้ผู้กระทำผิดใช้ประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายไทยได้ เช่น ปัจจุบัน ไทยมี พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ซึ่งได้กำหนดบทลงโทษที่ครอบคลุมทั้งเรือประมงไทย เรือประมงที่ไม่ใช่เรือประมงไทย และเรือไร้สัญชาติที่มีผู้รับผลประโยชน์เป็นคนไทย ทำให้ปัจจุบัน หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ อันเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศและอนุสัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการประมงที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย ซึ่งเป็นมาตรการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบการชาวไทยหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายประมงที่เข้มงวดของไทย เพื่อลักลอบออกไปทำประมงผิดกฎหมายโดยชักธงต่างประเทศได้

นอกจากนี้ ไทยยังได้ออกประกาศกรมเจ้าท่า ห้ามโอนกรรมสิทธิและห้ามเพิกถอนทะเบียนเรือสัญชาติไทยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี เพื่อให้มั่นใจว่าเรือจะยังคงอยู่ในความควบคุมของรัฐจนสิ้นกระบวนความ และป้องกันมิให้มีการถอนทะเบียนและเปลี่ยนสัญชาติเรือ เพื่อชักธงสัญชาติอื่นกลับออกไปทำการประมงได้อีก

นอกจากนี้ ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า ยังได้ดำเนินการตามพันธกรณีซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 95 ของ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 โดยไทยได้กำหนดท่าเทียบเรือประมงต่างชาติจำนวนทั้งสิ้น 22 ท่า อีกทั้งยังได้ปรับปรุงมาตรการให้มีความรัดกุมขึ้น โดยหากเป็นเรือประมงต่างชาติไม่ว่าจะมีสัตว์น้ำหรือไม่มีสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเพื่อขอเข้าท่าตามระยะเวลาที่ประกาศกรมประมงกำหนด เจ้าหน้าที่จะขึ้นตรวจสอบเรือประมงที่นำสัตว์น้ำมาขึ้นท่าในประเทศไทย  โดยจะประสานงานกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจความถูกต้องของเอกสาร ตลอดจนการเข้าร่วมกับนานาประเทศและองค์การบริหารการประมงในภูมิภาคเพื่อติดตามเรือประมงที่ต้องสงสัยว่าจะมีการทำการประมงผิดกฎหมาย

รัฐบาลไทยขอย้ำว่า ไม่ว่าเจ้าของเรือจะเป็นชาวต่างชาติ และเรือชักธงชาติอื่น หรือเจ้าของเรือเป็นคนไทยแต่ได้นำเรือไปชักธงชาติอื่น หากนำเรือเข้ามาในน่านน้ำไทยจะต้องเผชิญกับมาตรการตรวจตราและกำกับดูแลเรือเข้า-ออกน่านน้ำไทย ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นกว่าในอดีตมาก และรัฐบาลไทยจะเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในทุกกรณีเพื่อให้ประเทศไทยปราศจากสัตว์น้ำ IUU และการใช้แรงงานบังคับในภาคประมงให้ได้