การจดทะเบียนสมรส

การยื่นขอจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1459 บัญญัติว่า การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทยสามารถดำเนินการที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศได้ 

เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนสมรส

1.  บัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย

2.  หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย

3.  สำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย

4.  หนังสือให้ความยินยอม (กรณีผู้ร้องยังไม่บรรลุนิติภาวะและผู้มีอำนาจให้ความยินยอมไม่ได้มาด้วย)

5.  ใบเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล (กรณีเคยเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล)

6.  สูติบัตรของบุตร/หรือทะเบียนบ้านบุตร (กรณีมีบุตรด้วยกันมาก่อน)

7.  หนังสือรับรองสถานภาพทางการสมรสว่าเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบุคคลใด 

- กรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ ต้องมีหนังสือรับรองคุณสมบัติเหมาะสมหรือมีเสรีภาพในการสมรสซึ่งออกโดยทางการของประเทศที่ผู้ร้องมีสัญชาติ  (หากเป็นภาษาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ให้นำเอกสารไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองโดยหน่วยงานทางการของประเทศนั้น)

หรือ ใบสำคัญการหย่า (กรณีเคยจดทะเบียนสมรสและได้จดทะเบียนหย่าแล้ว)

8.  หญิงที่สามีตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

     8.1 คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

     8.2 สมรสกับคู่สมรสเดิม

     8.3 มีใบรับรองแพทย์แสดงว่า มิได้ตั้งครรภ์

     8.4 มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

หมายเหตุ

- ขอให้นัดหมายล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่สถานทูตผ่านอีเมล์ consular.BUH@mfa.go.th และจะต้องยื่นเอกสารประกอบให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเพื่อตรวจและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้อง

- ในวันจดทะเบียนสมรส กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของพยาน

- นายทะเบียนสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยเฉพาะกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทยเท่านั้น

- ไม่มีค่าธรรมเนียม